ทำเกษตรผสมผสานตาม​แนว​พระราชดำริเกษตรทฤษฎีใหม่เพื่อบรรลุเศรษฐกิจพอเพียง

ก่อนจะมาเป็นสวนนี้แต่เดิมถูกทิ้งไว้หลายปีเพราะเจ้าของที่ดินเดิมย้ายไปอยู่จังหวัดอื่น เราได้ซื้อที่ดินนี้มาเป็นที่ดอน ป่ารก และต้นซาด เดินเข้าไปมีแต่พงหนามเล็บแมวและเถาวัลย์...ตาบุญเลี่ยมกับยายมะลิ...คนแก่อายุ 60ปี ช่วยกันถางด้วย มีดโต้ จอบ เสียม ไม่จ้างรถแทรกเตอร์เลย ด้วยเหตุผลว่าเสียดายไม้ ถางป่าด้วยความหวัง ถางป่าด้วยความสุข ถางป่าไปร้องเพลงไป พอมีที่ว่างก็ค่อยๆปลูกพืชผักที่กินได้ เข่นแตงโม ข้าวโพด ส่วนต้นไม้ใหญ่รักษาไว้ให้คงสภาพป่าเหมือนเดิม ถางป่าเป็นเวลา 2 ปี แล้วจึงน้อมนำพระราชดำริพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เรื่องเกษตรทฤษฎีใหม่ มาปฏิบัติจนกลายเป็นสวนเกษตรผสมผสาน ตามปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ปลูกพืชสวนครัว ไม้ผล เลี้ยงสัตว์ ปัจจุบันได้รับการคัดเลือกเป็น"ศูนย์เรียนรู้เศรษฐกิจพอเพียงและเกษตรอินทรีย์ เฉลิมพระเกียรติ"หมู่8 ต.งัวบา อ.วาปีปทุม จ.มหาสารคาม

Wednesday, September 16, 2009

ประวัติสวนเกษตรบุญเลี่ยม-มะลิ สวนเกษตรแห่งความภาคภูมิใจ (2)

     สวนเราอยู่ติดกับหมู่บ้าน เมื่อถางป่าเสร็จเราจึงเริ่มต่อน้ำประปาหมู่บ้านเข้าสวน ทำหัวก็อกน้ำไว้ 4 จุดไว้ใช้สอยและรดน้ำต้นไม้ในเบื้องต้น เดินสายไฟเข้ามาด้วย ขุดสระน้ำ เมื่อมีน้ำในสระแล้วเตรียมอาหารไว้ให้ปลา โดยนำมูลวัวตากแห้งโรยลงในสระ สังเกตุได้ว่าหลังจากโรยมูลวัวลงสระแล้วประมาณ 1 สัปดาห์ น้ำจะเปลี่ยนสีจากขาวขุ่นเป็นสีเขียวใส นั่นคือในสระมีแพลงตอนหรือพืชขนาดเล็กซึ่งเป็นอาหารธรรมชาติชั้นเยี่ยมของปลาจากนั้นจึงปล่อยลูกปลาลงสระ ต่อมาขุดบ่อบาดาล ไว้ 1 บ่อเพื่อใช้น้ำบาดาลรดน้ำต้นไม้ เป็นแหล่งน้ำสำรองเมื่อน้ำในสระมีน้อย หรือหากฝนไม่ตกต้องตามฤดูกาล น้ำบาดาลนี่แหละช่วยให้เราทำนาได้ สำหรับปั๊มน้ำบาดาลควรใช้ ปั๊มไฟฟ้า เราเคยซื้อเครื่องเบนซินมาแล้วไม่เหมาะสม เครื่องเบนซินแรงกว่าแต่เหมาะกับระดับน้ำห่างจากเครื่องไม่เกิน 3 เมตร เหมาะกับการสูบน้ำในพื้นราบมากกว่า หาไก่พันธุ์ไข่ และไก่พื้นเมืองมาเลี้ยง บางช่วงพอมีทรัพย์บ้างเราก็หาซื้อ ไม้ผลพันธุ์ดีมาปลูก ซึ่งการปลูกไม้ผลต้องใช้เวลา 3-5 ปีกว่าจะได้กินผล ไม้ผลที่ดูแลง่ายเช่น น้อยหน่า,แก้วมังกร,มะม่วง เรามีไว้เป็นหลัก

No comments:

Post a Comment