ทำเกษตรผสมผสานตาม​แนว​พระราชดำริเกษตรทฤษฎีใหม่เพื่อบรรลุเศรษฐกิจพอเพียง

ก่อนจะมาเป็นสวนนี้แต่เดิมถูกทิ้งไว้หลายปีเพราะเจ้าของที่ดินเดิมย้ายไปอยู่จังหวัดอื่น เราได้ซื้อที่ดินนี้มาเป็นที่ดอน ป่ารก และต้นซาด เดินเข้าไปมีแต่พงหนามเล็บแมวและเถาวัลย์...ตาบุญเลี่ยมกับยายมะลิ...คนแก่อายุ 60ปี ช่วยกันถางด้วย มีดโต้ จอบ เสียม ไม่จ้างรถแทรกเตอร์เลย ด้วยเหตุผลว่าเสียดายไม้ ถางป่าด้วยความหวัง ถางป่าด้วยความสุข ถางป่าไปร้องเพลงไป พอมีที่ว่างก็ค่อยๆปลูกพืชผักที่กินได้ เข่นแตงโม ข้าวโพด ส่วนต้นไม้ใหญ่รักษาไว้ให้คงสภาพป่าเหมือนเดิม ถางป่าเป็นเวลา 2 ปี แล้วจึงน้อมนำพระราชดำริพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เรื่องเกษตรทฤษฎีใหม่ มาปฏิบัติจนกลายเป็นสวนเกษตรผสมผสาน ตามปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ปลูกพืชสวนครัว ไม้ผล เลี้ยงสัตว์ ปัจจุบันได้รับการคัดเลือกเป็น"ศูนย์เรียนรู้เศรษฐกิจพอเพียงและเกษตรอินทรีย์ เฉลิมพระเกียรติ"หมู่8 ต.งัวบา อ.วาปีปทุม จ.มหาสารคาม

Thursday, November 26, 2009

เกี่ยวข้าว

ประมาณเดือนพฤศจิกายนของทุกปี พวกเราจะต้องเกี่ยวข้าวกัน ปัจจุบันการเกี่ยวข้าวต้องจ้างคนมาเกี่ยวเพราะลำพังผู้ทำนาถ้าจะเกี่ยวด้วยตัวเองต้องใช้เวลานานกว่าจะเสร็จ ค่าจ้างเกี่ยวข้าวทั่วๆไปตกวันละ 250 บาท/คน รวมๆแล้วค่าเกี่ยวข้าว ค่าจ้างมัดข้าว ค่าจ้างขนข้าว ค่าจ้างนวดข้าวจนถึงขนเข้าเก็บในยุ้งฉาง ถ้าทำนา 20 ไร่ตกประมาณ 10,000 กว่าบาท มีปัญหาว่าต่อๆไปในอนาคตอาจต้องจ้างรถเกี่ยวข้าวมาเกี่ยวเพราะขาดแรงงานที่จะมารับจ้าง หนุ่มสาวเข้ามาทำงานในเมืองกันหมด เหลือแต่คนแก่กับเด็กที่อยู่บ้าน เรื่องรถเกี่ยวข้าว ปัจจุบันชาวนาบางส่วนยังไม่นิยมเพราะทำให้ข้าวร่วงหล่นเสียหายมากกว่าคนเกี่ยว แต่จากแนวโน้มค่าจ้างแรงงานเกี่ยวข้าวเมื่อก่อนวันละ 130 บาท/คนกลายเป็น 250 บาทนั้นคิดแล้วใช้รถเกี่ยวมีความคุ้มค่ากว่าแน่นอน